โลหะศาสตร์ในพระเครื่องและพระบูชา
วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
โลหะสำริดในการสร้างพระเครื่องและพระบูชา
เนื้อสำริดหรือสัมฤทธิ์ ประกอบด้วยตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ 5 ตระกูล คือ สัมฤทธิ์ผล สัมฤทธิ์โชค สัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณ และสัมฤทธิ์เดช รวมเป็นสัมฤทธิ์ 5 ตระกูล อันมีความพิสดารดังต่อไปนี้
1. สัมฤทธิ์ผล คือสัมฤทธิ์แดง หรือตริยะโลหะ มีมงคลความหมายถึง พระรัตนตรัยเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อสาม ผสมด้วยโลหะธาตุ 3 ชนิด คือ ทองแดง เป็นส่วนใหญ่และเจือด้วยเงินกับทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะแดงคล้ายนาก แต่มีผิวเจือด้วยวรรณะคล้ำๆ คล้ายสีมะขามเปียก โบราณถือว่าเป็นมงคลวัตถุ อำนวยผลนานาประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเมตตามหานิยม พระพุทธรูปสมัยอู่ทองโดยเฉพาะพระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่มักสร้างด้วยเนื้อนี้
2. สัมฤทธิ์โชค คือสัมฤทธิ์เหลือง หรือ ปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เงิน ทองคำ มีวรรณะเหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน มีแววนกยูงภายในเนื้อ เป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้
3. สัมฤทธิ์ศักดิ์ คือสัมฤทธิ์ขาว หรือสัตตะโลหะ เป็นมงคลนามหมายถึง โพชฌงค์ 7 คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี 7 ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา สัมฤทธิ์ศักดิ์เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเจ็ด ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว เงิน และทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะหม่นคล้ำน้อยๆ แต่มีแวววรรณะขาวผสมผสานอยู่ นับถือกันว่าอำนวยผลในด้านอำนาจ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด
4. สัมฤทธิ์คุณ คือสัมฤทธิ์เขียว หรือ นวโลหะ หมายถึงนัยของธรรมอันสูงสุดในพระศาสนา อันได้แก่ นวโลกุตรธรรม อันมี มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 สัมฤทธิ์คุณเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดช ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว ชิน จ้าวน้ำเงิน เงิน และทองคำ แต่สัมฤทธิ์ตระกูลนี้แก่ส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่าธรรมดา ฉะนั้น เนื้อภายในจึงมีวรรณะสีจำปาอ่อนหรือนากอ่อน แต่ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะถูกไอเหงื่อ จะมีวรรณะคล้ำเจือเขียวเตยหม่นแกมเหลืองอ่อนคล้ำมีแววขาวโดยตลอดเนื้อ สัมฤทธิ์ชนิดนี้อำนวยคุณวิเศษเช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดชทุกประการ
5. สัมฤทธิ์เดช คือสัมฤทธิ์ดำ หรือนวโลหะ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์คุณ แต่มีสัดส่วนการผสมได้เกณฑ์ถูกต้องตามมูลสูตรมากที่สุด ดังนั้นภายในจึงมีวรรณะจำปาแก่ หรือสีนากแก่ ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะต้องไอเหงื่อ จะดำสนิท ประหนึ่งนิลดำ เรียกกันว่า "สัมฤทธิ์เนื้อกลับ" โบราณถือว่าสัมฤทธิ์นวโลหะทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุด หรือเป็นยอดของสัมฤทธิ์ อำนวยผลในด้านมหาอุตม์อันสูงส่ง คืออำนาจตบะเดชะ มหานิยม ลาภผล ความสำเร็จ คงกระพัน แคล้วคลาด ทุกประการ สูตรผสมเนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือนวโลหะ ที่เป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาอยู่กับ สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ พระพุฒาจารย์มา ครั้งยังเป็นพระมงคลทิพยะมุนี วัดจักรวรรดิฯ และสมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศน์ ครั้งยังเป็นพระเทพโมลีตามลำดับ เกณฑ์อัตราส่วนผสมของโลหะทั้ง 9 ชนิด มีดังนี้
1) ชิน หนัก 1 บาท
2) จ้าวน้ำเงิน หนัก 2 บาท
3) เหล็กละลายตัว หนัก 3 บาท
4) ตะกั่วเถื่อน หนัก 4 บาท
5) ปรอท หนัก 5 บาท
6) สังกะสี หนัก 6 บาท
7) บริสุทธิ์ (ทองแดงเถื่อน) หนัก 7 บาท
8) เงิน หนัก 8 บาท
9) ทองคำ หนัก 9 บาท
ขอบคุณภาพพระพุทธสิหิงค์จาก bloggang.com และข้อมูลจาก http://totalmysterystory.blogspot.com/
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
โลหะสำริดในการสร้างพระเครื่องและพระบูชา
เนื้อสำริดหรือสัมฤทธิ์ ประกอบด้วยตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ 5 ตระกูล คือ สัมฤทธิ์ผล สัมฤทธิ์โชค สัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์ค...